ขนบไพร่

ออกอากาศ17 พ.ย. 62

เรื่องเล่าจากละคร

ขนบไพร่

เรียบเรียงโดย : จักร ปานสมัย

แม้ปลายจวักจะรายล้อมด้วยตัวละครหลักที่เป็นขุนน้ำขุนนาง เป็นนางข้าหลวง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวละครแวดล้อม ตัวประกอบที่ไม่มีบทพูด ตัวประกอบที่สัญจรไปมาในหลายฉากหลายตอนนั้น เป็นตัวละครที่มีสถานะเป็น “ไพร่” ดังเช่นในสงครามที่คุณเลิศกับคุณกล้าเดินทางไปรบที่สมรภูมิลาวกาว สงครามนั้นจะสำเร็จลุล่วงไม่ได้เลยหากขาดเหล่าไพร่ ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญยิ่ง

ในระยะหลังมานี้ คนรุ่นหลังมักเข้าใจผิดว่าไพร่เป็นคำด่า คำเหยียดหยาม แต่แท้จริงแล้วความหมายของไพร่ก็คือประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในฐานะประชาชนทั่วไป แต่ก็มิได้มีชีวิตได้อย่างอิสระเสรีเหมือนขุนน้ำขุนนาง ฉะนั้นแล้วการเลิกไพร่จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลิกทาส

ไพร่ หมายถึงพลเมืองทั่วไป ต้องขึ้นสักมูลนายเข้าเวรตามช่วงเวลา หรือต้องส่งของบรรณาการตามที่กฎหมายกำหนด มักมีการถกเถียงว่าไพร่หมายถึงผู้ชาย หรือผู้หญิง แต่หากพิจารณาจากกฎหมายตราสามดวงแล้ว จะพบว่าไพร่โดยทั่วไปนั้นเป็นชาย ส่วนผู้หญิงที่มีสถานะไพร่ตามกำหนดมักทำหน้าที่เป็นหญิงตักน้ำ หญิงหามบ่อ เป็นการเกณฑ์แรงงานผู้หญิงซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในพระบรมมหาราชวัง

ไพร่ที่เป็นชายนั้น โดยทั่วไปจำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ไพร่สม ที่ขึ้นตรงกับเจ้านาย ขุนนาง อยู่ในสังกัดเจ้าขุนมูลนาย จึงถือว่ามีนายเพียงคนเดียว โดยการปฏิบัติหน้าที่ของไพร่ที่ต้องเข้าทำงานตามช่วงเวลาที่กำหนดนั้นเรียกกันว่า “เข้าเดือน” โดยภาระงานทั่วไป เป็นงานลงแรงเช่นก่อสร้าง
  2. ไพร่หลวง เป็นเหมือนของหลวง ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ต้องเข้ากรมต่าง ๆ หรือเป็นกำลังสำคัญในยามสงคราม ถือว่าทำงานหนักยิ่งกว่าไพร่สมมากนัก
  3. ไพร่ส่วย ที่หากมีเงินมาก ก็ใช้วิธีส่งส่วยแทนการลงแรงทำงานเหมือนกับไพร่สองกลุ่มแรก โดยไพร่ทุกคนต้องถูกสักเลกเพื่อแสดงว่าอยู่ในสังกัดมูลนายท่านใด

ไพร่ถือเป็นอีกประชากรหนึ่งที่มีจำนวนมาก จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในกลไกการบริหารบ้านเมือง มีภาระหน้าที่ทั้งยามบ้านเมืองสงบและยามมีสงคราม ยามปกติไพร่รับใช้มูลนาย ซึ่งก็มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามมูลนายกดขี่รังแกไพร่เกินควร ส่วนในยามสงคราม ไพร่ต้องเป็นกำลังในการรบ ดังเช่นในตำนานนางนาคพระโขนง ที่ทิดมากต้องไปเกณฑ์ทหารทั้งที่ภรรยาท้องแก่ใกล้คลอด หรือในประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนก็คือช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่มีสงครามเก้าทัพนั่นเอง

ในรัชกาลที่ 1 ไพร่จึงมีบทบาทอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่แค่เกิดสงครามเท่านั้น แต่ในรัชสมัยของพระองค์เป็นการสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ เป็นยุคสมัยแห่งการก่อร่างสร้างเมือง อย่างไรก็ตาม สงครามมิได้แค่พรากชีวิตใครต่อใครไปหากพ่ายแพ้ แต่สงครามยังทำให้ไพร่มีโอกาสได้เลื่อนชั้นทางสังคม หากมีความสามารถในการรบย่อมเจริญก้าวหน้า มียศถาบรรดาศักดิ์ หลุดพ้นจากความเป็นไพร่ ส่วนในรัชสมัยอื่น ๆ หากไพร่มีความสามารถโดดเด่นในด้านที่ต้องพระราชหฤทัยพระมหากษัตริย์ ก็สามารถเลื่อนสถานะทางสังคมได้เช่นกัน ดังเช่นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 อันถือเป็นยุคทองแห่งวรรณคดี ก็มีไพร่คนหนึ่งมียศถาเพราะความสามารถด้านกวี เขาคือนายภู่ ที่กลายเป็นขุนสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่นั่นเอง

ไม่เพียงแต่มีโอกาสเลื่อนสถานะ ทว่าไพร่ยังมีโอกาสถูกลดสถานะให้กลายเป็นทาสได้เช่นกัน หากเกียจคร้านการทำงาน ไม่ชอบทำมาหากิน ซึ่งไพร่บางส่วนก็ยินดีที่จะขายตัวเองให้เป็นทาส เพราะมิจำเป็นต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพตน เพียงแค่ฝากชีวิตไว้กับเจ้านายเท่านั้น และในประวัติศาสตร์ไทยก็ยังพบพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนมูลนายที่ทำผิดใหญ่หลวงจนต้องถูกถอดยศกลายเป็นไพร่ เช่น เป็นกบฏ โดยมูลนายที่กลายเป็นไพร่ ก็จะต้องทำงานต่าง ๆ เยี่ยงไพร่ หรือกรรมกรทั่วไป เช่น เป็นตะพุ่นช้าง

เมื่อไพร่หลวง เป็นกลุ่มไพร่ที่ทำงานหนักที่สุด จึงมีเหตุการณ์ไพร่หลวงขาดแคลน เพราะส่วนใหญ่พากันไปเป็นไพร่สม หรือหากลำบากจริง ๆ ก็ยอมขายตัวเป็นทาส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเป็นไพร่หลวงเป็นเรื่องหนัก เหนื่อย และลำบากยิ่ง พระมหากษัตริย์จึงต้องหาทางผ่อนปรน กำหนดกฎหมายใหม่ให้เกณฑ์ไพร่เพียงแค่ระยะเวลา 3 - 4 เดือนเท่านั้น ไพร่เหล่านั้นจะได้มีเวลาทำงานของตนเองมากขึ้น

ไพร่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทย เพราะบ่งบอกถึงพลานุภาพ อำนาจ และบารมีของผู้ปกครองไพร่ ดังนั้นการที่ไพร่ส่วนใหญ่พากันไปเป็นไพร่สมมากกว่าไพร่หลวง จึงไม่เป็นเรื่องดีนักสำหรับพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นเรื่องดีสำหรับมูลนายที่มีไพร่สมในปกครองมากเกินไปเช่นกัน เพราะเสี่ยงอย่างยิ่งที่พระมหากษัตริย์จะไม่ไว้วางใจ การผ่อนปรนภาระของไพร่หลวง จึงถือเป็นทั้งความสบายพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ ความสบายใจของมูลนายและตัวไพร่เองเช่นกัน

ขนบไพร่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องมายังสมัยรัตนโกสินทร์ การผ่อนปรนภาระหน้าที่ของไพร่ แสดงให้เห็นว่าไพร่คือกำลังสำคัญของประเทศชาติ เป็นพื้นฐานทางสังคม แสดงให้เห็นอำนาจของประเทศนั้น ๆ ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในยามสงคราม ฉะนั้นแล้วเมื่อคนตัวเล็กตัวน้อยมารวมตัวกัน มารวมพลังเป็นจำนวนมาก ย่อมมีพลังมากพอให้ผู้มีอำนาจมองเห็น จนนำไปสู่การเลิกไพร่ในที่สุด


รายการอ้างอิง

ปิยนาถ บุนนาค. ศาสตราจารย์. ราชบัณฑิต ประเภทวิชาประวัติศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่. สัมภาษณ์. 13 มีนาคม 2563.

เรื่องเล่าจากละคร

ขนบไพร่

เรียบเรียงโดย : จักร ปานสมัย

แม้ปลายจวักจะรายล้อมด้วยตัวละครหลักที่เป็นขุนน้ำขุนนาง เป็นนางข้าหลวง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวละครแวดล้อม ตัวประกอบที่ไม่มีบทพูด ตัวประกอบที่สัญจรไปมาในหลายฉากหลายตอนนั้น เป็นตัวละครที่มีสถานะเป็น “ไพร่” ดังเช่นในสงครามที่คุณเลิศกับคุณกล้าเดินทางไปรบที่สมรภูมิลาวกาว สงครามนั้นจะสำเร็จลุล่วงไม่ได้เลยหากขาดเหล่าไพร่ ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญยิ่ง

ในระยะหลังมานี้ คนรุ่นหลังมักเข้าใจผิดว่าไพร่เป็นคำด่า คำเหยียดหยาม แต่แท้จริงแล้วความหมายของไพร่ก็คือประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในฐานะประชาชนทั่วไป แต่ก็มิได้มีชีวิตได้อย่างอิสระเสรีเหมือนขุนน้ำขุนนาง ฉะนั้นแล้วการเลิกไพร่จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลิกทาส

ไพร่ หมายถึงพลเมืองทั่วไป ต้องขึ้นสักมูลนายเข้าเวรตามช่วงเวลา หรือต้องส่งของบรรณาการตามที่กฎหมายกำหนด มักมีการถกเถียงว่าไพร่หมายถึงผู้ชาย หรือผู้หญิง แต่หากพิจารณาจากกฎหมายตราสามดวงแล้ว จะพบว่าไพร่โดยทั่วไปนั้นเป็นชาย ส่วนผู้หญิงที่มีสถานะไพร่ตามกำหนดมักทำหน้าที่เป็นหญิงตักน้ำ หญิงหามบ่อ เป็นการเกณฑ์แรงงานผู้หญิงซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในพระบรมมหาราชวัง

ไพร่ที่เป็นชายนั้น โดยทั่วไปจำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ไพร่สม ที่ขึ้นตรงกับเจ้านาย ขุนนาง อยู่ในสังกัดเจ้าขุนมูลนาย จึงถือว่ามีนายเพียงคนเดียว โดยการปฏิบัติหน้าที่ของไพร่ที่ต้องเข้าทำงานตามช่วงเวลาที่กำหนดนั้นเรียกกันว่า “เข้าเดือน” โดยภาระงานทั่วไป เป็นงานลงแรงเช่นก่อสร้าง
  2. ไพร่หลวง เป็นเหมือนของหลวง ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ต้องเข้ากรมต่าง ๆ หรือเป็นกำลังสำคัญในยามสงคราม ถือว่าทำงานหนักยิ่งกว่าไพร่สมมากนัก
  3. ไพร่ส่วย ที่หากมีเงินมาก ก็ใช้วิธีส่งส่วยแทนการลงแรงทำงานเหมือนกับไพร่สองกลุ่มแรก โดยไพร่ทุกคนต้องถูกสักเลกเพื่อแสดงว่าอยู่ในสังกัดมูลนายท่านใด

ไพร่ถือเป็นอีกประชากรหนึ่งที่มีจำนวนมาก จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในกลไกการบริหารบ้านเมือง มีภาระหน้าที่ทั้งยามบ้านเมืองสงบและยามมีสงคราม ยามปกติไพร่รับใช้มูลนาย ซึ่งก็มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามมูลนายกดขี่รังแกไพร่เกินควร ส่วนในยามสงคราม ไพร่ต้องเป็นกำลังในการรบ ดังเช่นในตำนานนางนาคพระโขนง ที่ทิดมากต้องไปเกณฑ์ทหารทั้งที่ภรรยาท้องแก่ใกล้คลอด หรือในประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนก็คือช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่มีสงครามเก้าทัพนั่นเอง

ในรัชกาลที่ 1 ไพร่จึงมีบทบาทอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่แค่เกิดสงครามเท่านั้น แต่ในรัชสมัยของพระองค์เป็นการสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ เป็นยุคสมัยแห่งการก่อร่างสร้างเมือง อย่างไรก็ตาม สงครามมิได้แค่พรากชีวิตใครต่อใครไปหากพ่ายแพ้ แต่สงครามยังทำให้ไพร่มีโอกาสได้เลื่อนชั้นทางสังคม หากมีความสามารถในการรบย่อมเจริญก้าวหน้า มียศถาบรรดาศักดิ์ หลุดพ้นจากความเป็นไพร่ ส่วนในรัชสมัยอื่น ๆ หากไพร่มีความสามารถโดดเด่นในด้านที่ต้องพระราชหฤทัยพระมหากษัตริย์ ก็สามารถเลื่อนสถานะทางสังคมได้เช่นกัน ดังเช่นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 อันถือเป็นยุคทองแห่งวรรณคดี ก็มีไพร่คนหนึ่งมียศถาเพราะความสามารถด้านกวี เขาคือนายภู่ ที่กลายเป็นขุนสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่นั่นเอง

ไม่เพียงแต่มีโอกาสเลื่อนสถานะ ทว่าไพร่ยังมีโอกาสถูกลดสถานะให้กลายเป็นทาสได้เช่นกัน หากเกียจคร้านการทำงาน ไม่ชอบทำมาหากิน ซึ่งไพร่บางส่วนก็ยินดีที่จะขายตัวเองให้เป็นทาส เพราะมิจำเป็นต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพตน เพียงแค่ฝากชีวิตไว้กับเจ้านายเท่านั้น และในประวัติศาสตร์ไทยก็ยังพบพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนมูลนายที่ทำผิดใหญ่หลวงจนต้องถูกถอดยศกลายเป็นไพร่ เช่น เป็นกบฏ โดยมูลนายที่กลายเป็นไพร่ ก็จะต้องทำงานต่าง ๆ เยี่ยงไพร่ หรือกรรมกรทั่วไป เช่น เป็นตะพุ่นช้าง

เมื่อไพร่หลวง เป็นกลุ่มไพร่ที่ทำงานหนักที่สุด จึงมีเหตุการณ์ไพร่หลวงขาดแคลน เพราะส่วนใหญ่พากันไปเป็นไพร่สม หรือหากลำบากจริง ๆ ก็ยอมขายตัวเป็นทาส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเป็นไพร่หลวงเป็นเรื่องหนัก เหนื่อย และลำบากยิ่ง พระมหากษัตริย์จึงต้องหาทางผ่อนปรน กำหนดกฎหมายใหม่ให้เกณฑ์ไพร่เพียงแค่ระยะเวลา 3 - 4 เดือนเท่านั้น ไพร่เหล่านั้นจะได้มีเวลาทำงานของตนเองมากขึ้น

ไพร่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทย เพราะบ่งบอกถึงพลานุภาพ อำนาจ และบารมีของผู้ปกครองไพร่ ดังนั้นการที่ไพร่ส่วนใหญ่พากันไปเป็นไพร่สมมากกว่าไพร่หลวง จึงไม่เป็นเรื่องดีนักสำหรับพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นเรื่องดีสำหรับมูลนายที่มีไพร่สมในปกครองมากเกินไปเช่นกัน เพราะเสี่ยงอย่างยิ่งที่พระมหากษัตริย์จะไม่ไว้วางใจ การผ่อนปรนภาระของไพร่หลวง จึงถือเป็นทั้งความสบายพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ ความสบายใจของมูลนายและตัวไพร่เองเช่นกัน

ขนบไพร่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องมายังสมัยรัตนโกสินทร์ การผ่อนปรนภาระหน้าที่ของไพร่ แสดงให้เห็นว่าไพร่คือกำลังสำคัญของประเทศชาติ เป็นพื้นฐานทางสังคม แสดงให้เห็นอำนาจของประเทศนั้น ๆ ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในยามสงคราม ฉะนั้นแล้วเมื่อคนตัวเล็กตัวน้อยมารวมตัวกัน มารวมพลังเป็นจำนวนมาก ย่อมมีพลังมากพอให้ผู้มีอำนาจมองเห็น จนนำไปสู่การเลิกไพร่ในที่สุด


รายการอ้างอิง

ปิยนาถ บุนนาค. ศาสตราจารย์. ราชบัณฑิต ประเภทวิชาประวัติศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่. สัมภาษณ์. 13 มีนาคม 2563.

ละครย้อนยุค

ดูทั้งหมด

♫ ♫ Songs Popular ♫ ♫

ดูทั้งหมด

คลิปมาใหม่

คนดูเยอะ 👀

ดูทั้งหมด

เสน่ห์ประเทศไทย