แรงกดดันบรรษัทข้ามชาติให้หยุดทำธุรกิจกับกองทัพเมียนมา เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แรงกดดันจากกลุ่มและองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชน ทางด้านรณรงค์ประชาธิปไตย รวมทั้งนักลงทุนสถาบันที่ใส่ใจธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งมีอย่างน้อย 2 บรรษัทข้ามชาติที่ประกาศว่าจะยุติการร่วมทุนกับวิสาหกิจของกองทัพเมียนมา
บริษัทแรกคือ Kirin บริษัทผู้ผลิตเบียร์ญี่ปุ่น ประกาศว่าจะยุติการร่วมทุนกับ Myanmar Economic and Holdings Ltd (MEHL) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา Posco Coated & Color Steel บริษัทผู้ผลิตเหล็กเกาหลีใต้ประกาศว่าจะยุติการร่วมทุนกับ MEHL ในโครงการผลิตเหล็กแผ่นสำหรับก่อสร้างในเมียนมา
Posco C&C แถลงรายละเอียดว่า บริษัทต้องการยุติสัญญาร่วมทุนโดยเสนอซื้อหุ้นในส่วนที่ MEHL ถือครอง 30% เพื่อยุติการทำธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับกองทัพเมียนมา
Nikkei Asia รายงานว่า เบื้องหลังแรงกดดันที่ทำให้ Posco C&C ต้องออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันจากนักลงทุนสถาบันที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล โดยอ้างรายงานจาก Financial Times ระบุว่า APG กองทุนบำเหน็จบำนาญของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือหุ้นลงทุนใน Posco ไม่สบายใจที่ Posco ร่วมลงทุนกับวิสาหกิจของกองทัพเมียนมา
Nikkei Asia รายงานว่า แผนการยุติการทำธุรกิจร่วมกับกองทัพเมียนมา ด้วยการเสนอขอซื้อหุ้นส่วนที่ถือครองโดย MEHL ดูท่าจะไม่ง่าย ประการแรกเป็นเหตุผลทางกฎหมาย คือ นับตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศเมื่อปี 2554 รัฐบาลเมียนมากำหนดเงื่อนไขให้บริษัทต่างชาติต้องมีบริษัทร่วมทุนสัญชาติเมียนมา ซึ่งเกือบทุกบริษัทผูกสัมพันธ์ลงทุนร่วมกับวิสาหกิจของกองทัพ
เหตุผลประการที่สอง คือ หากการเสนอขอซื้อหุ้นส่วนที่ถือครองโดย MEHL สำเร็จไปได้ด้วยดี ทั้ง Posco C&C และ Kirin ก็อาจจะถูกโจมตีอีกว่า หยิบยื่นผลประโยชน์ให้กองทัพเมียนมา เพราะเงินได้จากการขายหุ้นก็จะถูกถ่ายเทสู่กองทัพ
Nikkei Asia รายงานว่า โครงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในนครย่างกุ้ง โดยบริษัท Tokyo Tatemonom และ Fujita บนที่ดินที่ถือครองโดยกระทรวงกลาโหมเมียนมา นำมาพัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน โรงแรม และศูนย์การค้า ตอนนี้ก็ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของ NGO ชื่อ Justice for Myanmar ด้วยเหตุที่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับกระทรวงกลาโหม ปีละ 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Justice for Myanmar และเอ็นจีโอระหว่างประเทศรวม 5 องค์กร ได้ยื่นคำร้องต่อองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ขอให้ตรวจสอบว่าโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนที่ดินของกระทรวงกลาโหม ที่ชื่อโครงการ Y Complex มีผลประโยชน์ทางการเงินให้กับกองทัพเมียนมาหรือไม่ เอ็นจีโอกลุ่มนี้เรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างโครงการนี้จนกว่าจะมีรัฐบาลพลเรือนปกครองเมียนมา
Nikkei Asia รายงานว่า บริษัทต่างชาติตอนนี้ระมัดระวังไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์บริษัทพัวพันกับผลประโยชน์ของกองทัพเมียนมา เช่น Okura เครือข่ายโรงแรมหรูญี่ปุ่น ซึ่งมีแผนเปิดโรงแรมที่ย่างกุ้ง ได้ระงับการจ้างพนักงานที่ย่างกุ้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม
หมายเหตุภาพ AP ชาวย่างกุ้งปล่อยลูกโป่งพร้อมป้ายสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เมื่อวันที่ 17 เมษายน