ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม/ทูตพิเศษ หัวข้อประชุมผู้นำอาเซียนแก้ปัญหาเมียนมา
ค่อนข้างชัดเจนว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนัดพิเศษเพื่อหาทางออกวิกฤตการเมืองเมียนมา ที่เกิดจากการผลักดันของนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย จะจัดขึ้นที่สำนักเลขาธิการอาเซียน ในกรุงจาการ์ตา วันที่ 24 เมษายน แม้ว่ายังไม่มีการแถลงยืนยันจากบรูไน ประธานอาเซียนก็ตาม แต่นายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นแห่งกัมพูชา ก็โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันศุกร์แจ้งว่า มีกำหนดเดินทางไปประชุมที่อินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เมษายน เช่นเดียวกับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ก็ยืนยันกับ The Jakarta Post ว่าตอนนี้รอการยืนยันจากบรูไนเท่านั้น
สำนักข่าวรอยเตอร์ส อ้างแหล่งข่าวจากแวดวงนักการทูตอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ เปิดเผยว่า หนึ่งในวาระที่กำลังจัดเตรียมกันอยู่ในขณะนี้ก็คือ การเสนอให้มีการส่งคณะทำงานช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจ่ออาเซียนเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประชาชนเมียนมา เพื่อปูทางให้อาเซียนเข้าไปมีบทบาทในฐานะคนกลางทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยยุติความขัดแย้งระหว่างกองทัพเมียนมากับคู่ขัดแย้ง
รอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐมนตรีต่างประเทศหลายชาติรวมทั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียน มีการต่อสายพูดคุยกับตัวแทน CRPH องค์กรที่ทำหน้าที่ตัวแทนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมียนมา ที่ชนะการเลือกตั้งทั้วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563
CRPH ได้แถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG) พร้อมทั้งอ้างว่า ประเทศตะวันตกและตะวันออกกลางหลายประเทศเตรียมประกาศให้การรับรองรัฐบาล NUG เร็ว ๆ นี้
โฆษกของ CRPH แถลงแสดงท่าทีไม่พอใจอาเซียนที่เชิญพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นตัวแทนเมียนมาเข้าร่วมประชุมกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน
“การเชิญหัวหน้าฆาตกร (murder in chief) เข้าร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียน เท่ากับเป็นการทำร้ายประชาชนเมียนมาผู้กล้าหาญ” โฆษก CRPH แถลง
ทางด้านริซาล สุกมา (Rizal Sukma) กรรมการบริหาร Centre for International and Strategic Studies หนึ่งในนักวิชาการที่ทำงานสนับสนุนทีมเตรียมจัดวาระการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนให้ความเห็นกับรอยเตอร์ส ว่า วาระการประชุมควรเริ่มด้วยการเสนอให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงโดยทันที ตามด้วยการส่งความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เข้าไปในเมียนมา
สุกมา อดีตนักการทูตอินโดนีเซีย ยืนยันว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนัดพิเศษจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุม
“ถ้าวัตถุประสงค์หลักของการประชุมผู้นำอาเซียน ต้องการหยุดยั้งการเข่นฆ่าประชาชนโดยกองทัพเมียนมา จำเป็นอย่างอย่างยิ่งที่ต้องพูดจาซึ่งหน้ากับมิน อ่อง หล่าย” ริซาล สุกมา กล่าว
รอยเตอร์ส อ้างว่า แหล่งข่าวในแวดวงนักการทูตสองคน เปิดเผยว่า คณะทำงานเตรียมวาระการประชุมมีการหารือ ถึงข้อเสนอแต่งตั้งทูตพิเศษอาเซียนเพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างกองทัพเมียนมากับคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย
แนวทางการแต่งตั้งทูตพิเศษ มีการเสนอกันก่อนหน้านี้ทั้งที่อินโดนีเซียและสิงคโปร์ โดยบทบรรณาธิการของ The Jakarta Post เสนอความเห็นว่า รัฐบาลอินโดนีเซียควรผลักดันให้พลเอกสุสิโล แบมบัง ยุดโดโยโน อดีตประธานาธิบดีทำหน้าที่นี้ เพราะเป็นผู้ที่มีบทบาทเจรจากับผู้นำกองทัพเมียนมาช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และการเลือกตั้งในเมียนมาเมื่อ 5 ปีก่อน
ขณะที่นาย Tommy Koh อดีตนักการทูตสิงคโปร์ เสนอให้นายโก๊ะ จ๊ก ตง อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ทำหน้าที่ทูตพิเศษ
หมายเหตุภาพ AFP ประชาชนเมียนมาทำบุญที่เจดีย์ชเวดากอง วันที่ 17 เมษายน