"ต้องเคารพสิทธิทางการเมืองของพนักงาน" บริษัทอังกฤษยืนยันให้โรงงานในเมียนมาปฏิบัติ
The Guardian รายงานว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากคนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าชื่อ GY Sen ในนครย่างกุ้ง ว่า พวกเขาคนงาน 1,000 คน ถูกซูเปอร์ไวเซอร์กักตัวไว้ในโรงงานเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เพื่อไม่ให้คนงานออกไปร่วมชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร ส่วนคนงานที่หยุดงานไปร่วมประท้วงกับขบวนการอารยะขัดขืนถูกไล่ออกจากงานจำนวน 20 คน
GY Sen เป็นบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าสำหรับรูป ตามคำสั่งซื้อของ Primark ห้างค้าปลีกเสื้อผ้าสินค้าแฟชั่นในประเทศอังกฤษ
Primark แถลงว่า บริษัทเริ่มกระบวนการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม และในระหว่างที่การสอบสวนหาข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติ บริษัทจะดำเนินสั่งซื้อสินค้าจาก GY Sen ต่อไป
แถลงการณ์ของ Primark ระบุว่า "เราจะดำเนินสืบสวนหาข้อเท็จจริงร่วมกับซัพพลายเออร์ในเมียนมา และหน่วยงานที่เป็นกลางเชื่อถือได้ และหากพบว่าซัพพลายเออร์มีการปฏิบัติกับคนงานไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีของ Primark โรงงานในเมียนมาก็ต้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง"
Guardian รายงานว่า คนงานหลายคนที่ให้สัมภาษณ์ Guardian พวกเขายืนยันว่า จะร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารต่อไป เพราะพวกเขาตัดสินใจแล้วว่า จะไม่ใช้ชีวิตภายใต้เผด็จการทหาร
อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเมียนมา เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยจุดแข็งค่าแรงราคาถูก มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 30% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของเมียนมา ในปี 2562 มีการจ้างงานประมาณ 700,000 คน ระดมผู้ชุมนุมเข้าร่วมการประท้วง แม้ว่าพวกเธอต้องเผชิญกับการปราบปรามสลายการชุมนุมและการคุกคามจากทหาร ตำรวจเมียนมา
บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นในอังกฤษตอนนี้กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากผู้บริโภคในประเทศ และกลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษยชน ที่เรียกร้องให้ปกป้องสิทธิการแสดงออกทางการเมืองของคนงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเมียนมา ว่าต้องมีหลักประกันว่า พวกเขาจะไม่ถูกลงโทษ ไม่ถูกไล่ออกด้วยเหตุจากการหยุดงานเข้าร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา
H&M เป็นห้างค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่น street fashion รายแรกในประเทศอังกฤษที่ประกาศว่าจะยุติคำสั่งซื้อเลื้อผ้าที่ผลิตจากซัพพลายเออร์ในประเทศเมียนมา
หมายเหตุภาพ AP ประชาชนในเมืองมัณฑะเลย์ชุมนุมประท้วง วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม