แถลงการณ์ UNSC ไม่มีความหมาย ทหาร ตำรวจเมียนมา สังหารผู้ชุมนุม 8 ศพ
วันพฤหัสบดีที่ 11 มี.ค. ไม่กี่ชั่วโมงภายหลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ประณามกองทัพเมียนมาที่ใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยวิธีการที่รุนแรง เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชนโดยทันที รวมทั้งแสดงจุดยืนสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และความจำเป็นต้องรักษาสถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตย
เสียงปืนก็ดังขึ้นหลายเมือง ในที่ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา เป็นสัญญาณปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และประชาคมโลก
ที่เมือง Myaing ในภูมิภาคมะเกวย์ ในภาคเหนือของเมียนมา ทหาร ตำรวจ ใช้กระสุนปืนจริงยิงใส่ประชาชนที่ร่วมชุมนุมประมาณ 300 คน มีผู้เสียชีวิต 6 ศพ ทั้งหมดเป็นผู้ชาย คนหนึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะเสียชีวิตในรถพยาบาลฉุกเฉิน
ผู้ร่วมชุมนุมที่รอดชีวิตเล่าเหตุการณ์ให้ Myanmar Now ฟังว่า เหตุการณ์ปราบปรามรุนแรงวันพฤหัสบดี เป็นสัญญาณการยกระดับความรุนแรง เนื่องจากทหาร ตำรวจ เปิดฉากลั่นกระสุนใส่ผู้ชุมนุมโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า
“ที่ผ่านมาพวกเราชุมนุมกันมาตั้งแต่เดือน ก.พ.ไม่เคยเกิดเรื่องแบบนี้ ปกติตำรวจตอนเช้า จะมาเตือนก่อน บอกว่า พวกเขาได้รับคำสั่งให้ยิงผู้ชุมนุม ขอให้ยุติการชุมนุมกลับเข้าบ้าน และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมมาก่อน”
ชาวบ้านบอกว่า พวกเขาได้ข้อมูลว่า มีรถบรรทุกทหารจากเมือง Pakkoku เดินทางมาถึงเมือง Myaing หลังจากนั้นก็เกิดการปราบปรามรุนแรงกับผู้ชุมนุม
Pakkoku เป็นที่ตั้งค่ายทหารกองพลทหารราบเบา ที่ 101 ซึ่งรายงานของ Amnasty International เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี ระบุว่า มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า มีการใช้ทหารหน่วยรบที่มีประวัติฆ่า ทารุณกรรมชนกลุ่มน้อยอย่างโหดร้าย จากกองพลทหารราบเบา หลายกองพล ปฏิบัติการปราบปรามผู้ชุมนุมในหลายเมืองโดยเฉพาะที่ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์
กำลังทหารจากกองพลทหารราบเบา ที่ 101 ซึ่งอยู่ที่เมือง Myaing เมื่อวันพฤหัสบดี เป็นหน่วยทหารที่ Amnasty ระบุว่า ปฏิบัติการปราบปรามผู้ชุมนุมที่เมืองโมนิวา ก่อนหน้านี้
รายงานจากสำนักข่าวหลายแห่งทั้ง Myanmar Now, Frontier Myanmar และ Reuters ข้อมูลตรงกัน คือ มีผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิตที่ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์อีกเมืองละ 1 ศพ รวมผู้เสียชีวิตในวันพฤหัสบดี ทั้งหมด 8 ศพ
สหประชาชาติและประชาคมโลก รวมทั้งอาเซียน ประสานเสียงเรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง หันหน้าพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย แต่ผู้นำกองทัพเมียนมาทั้งนายพลมินอ่อง หล่าย และนายพลซอ วิน ไม่เคยแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้เลย มีแต่เสียงปืนในที่ชุมนุม และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ล่าสุดมีมากกว่า 60 ศพ
ท่าทีของพลจัตวาซอ มิน ตุน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงข่าวสาร และโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา พูดเป็นนัยเป็นปฏิเสธแนวทางแก้ปัญหาด้วยกระบวนการพูดคุย
“ก่อนหน้านี้กองทัพมีความพยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยเจรจา แต่ก็ล้มเหลว”
Frontier Myanmar ขยายความการเจรจาที่โฆษกรัฐบาลทหารพูดกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี หมายถึง การพูดคุยระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำพรรคเอ็นแอลดี หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ซึ่งผู้นำกองทัพกล่าวหา ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง และใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.
การแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีนายพลจัตวาซอ มิน ตุน กล่าวหาประธานาธิบดีวิน มยินท์ ว่า แทรกแซงคณะกรรมการเลือกตั้ง “มีการสั่งการให้คณะกรรมการเลือกตั้งเพิกเฉยไม่พิจารณาข้อร้องเรียนของกองทัพ กรณีการทุจริตการเลือกตั้ง”
โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวหา นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีอีกหลายคนในรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดี ว่า มีพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง
หมายเหตุภาพ AFP ประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงกำลังช่วยการสร้างแนวป้องกันที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดใหญ่ ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มี.ค.