รมต.สหรัฐฯ - เกาหลีใต้ แสดงความวิตกกังวลต่อวิกฤตการณ์การเมืองในเมียนมา
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เปิดเผยว่านายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์หารือกับนายชุง อุย-ยอง รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการหารือเป็นครั้งแรกของทั้งสอง
แถลงการณ์เปิดเผยว่า รัฐมนตรีทั้งสองได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในพม่าภายหลังคณะทหารนำโดยพลเอกอายุโสมินอ่อง หล่าย ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก่อนการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ไม่กี่ชั่วโมง
การหารือประเด็นวิกฤติการณ์การเมืองในเมียนมาของ รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ไม่ใช่วาระการหารือปรกติ แต่เป็นการหารือต่อเนื่องจากวาระความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลีเหนือ ซึ่งนายบลิงเคน ย้ำถึงพันธกิจของสหรัฐในการปกป้องเกาหลีใต้จากภัยคุกคามอาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ
ปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองในเมียนมา เป็นประเด็นที่ประชาคมโลกกำลังวิตกกังวลและหาทางช่วยกันคลี่คลายปัญหาและกดดันให้คณะนายทหารเมียนมาคืนระบอบการปกครองแบบประขาธิปไตยให้กับประชาชนชาวเมียนมาโดยเร็ว
เมื่อวันพฤหัสบดี นายโทชิมิทสึ โมเทกิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น และนางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ก็มีการหารือโทรศัพท์เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเมียนมา เช่นกัน
รัฐมนตรีต่างการประเทศทั้งสองได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมาที่มีการใช้กระสุนยาง กับผู้ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร อย่างสันติวิธี
เกียวโดนิวส์ รายงานว่า รมต.ต่างประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ตกลงร่วมมือช่วยกันคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา
กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น อ้างคำพูดของนายโมเตกิ บอกว่า ญี่ปุ่นจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมประท้วง ขอให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจีและนักการเมืองถูกควบคุมตัวทุกคน และนำประเทศกลับคืนสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้ย้ำว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูแลให้ประชาชนเมียนมาปลอดภัย และฟื้นการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซียได้หารือกับนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และแถลงร่วมกันว่าทั้งสองตกลงที่จะเสนอให้บรูไน ประธานอาเซียน จัดประชุมนัดพิเศษเพื่อร่วมกันหาทางคลี่คลายวิกฤตการเมืองในเมียนมา
อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีใดใดจาก บรูไน ว่า ตอบรับข้อเสนอของผู้นำอินโดนีเซียและมาเลเซียหรือไม่
ขณะที่สหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์ มีปฏิกริยาตอบโต้คณะนายทหารเมียนมา ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว
นางจาซินด้า อาเดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ประกาศระงับการติดต่อระดับสูงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล และไม่อนุญาตให้ผู้นำทหารเมียนมาเดินทางเข้าประเทศ
ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่งลงนามคำสั่งบริหารคว่ำบาตรนายพลพม่า 10 คนที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร และบริษัทธุรกิจอัญมณี 3 แห่ง ทรัพย์สินและผลประโยชน์ของนายพลและบริษัทเหล่านี้ในสหรัฐอเมริกา ขณะนี้ถูกอายัดทั้งหมด