อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป นายกฯ อิตาลี คนที่ 3 ในรอบ 3 ปี
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายมาริโอ ดรากี้ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดที่ 3 ในรอบ 3 ปีของอิตาลี เป็นที่เรียบร้อย
รัฐบาลผสมชุดใหม่ของอิตาลีเป็นรัฐบาลที่มีส่วนผสมของนักการเมือง, เทคโนแครต (นักวิชาการที่มีประสบการณ์บริหาร) และพรรคการเมืองที่มีความแตกต่างทางอุดมการณ์ตั้งแต่ขวาสุดจนถึงซ้ายสุด โดยที่ทุกฝ่ายตกลงร่วมทำงานกับนายมาริโอ ดรากี้ ด้วยความหวังให้เขานำพาอิตาลี ให้ฟื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด-19
สื่อมวลชนตะวันตกหลายแห่ง เช่น The Guardian และ New York Times วิเคราะห์ว่า ทุกภาคส่วนในอิตาลีให้การยอมรับนายมาริโอ ดรากี้ เนื่องจากยอมรับฝีไม่ลายมือในการบริหารโดยเฉพาะช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป นำพาเศรษฐกิจยุโรปรอดพ้นจากวิกฤติหนี้สิน และสามารถปกป้องเงินยูโรเป็นผลสำเร็จ
รัฐบาลอิตาลีชุดก่อนหน้านี้ภายใต้การนำของนายจูเซปเป้ กอนเต้ ต้องล้มลง เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่วางใจว่า จะสามารถบริหารเงินช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจอิตาลีได้สำเร็จ จึงต้องถอนตัวจากรัฐบาล ทำให้นายจูเซปเป้ กอนเต้ ต้องลาออกจากตำแหน่ง และไม่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
นายมาริโอ ดรากี้ ได้รับเชิญจากประธานาธิบดีเซอจิโอ มาตาเรลล่า ให้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนกลาง ที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง ซึ่งในที่สุดเขาก็ทำได้สำเร็จ ประกาศจัดตั้งรัฐบาลอิตาลีได้เรียบร้อยเมื่อวันศุกร์ (12 พ.ค. 64) ที่ผ่านมา
The Guardian รายงานว่า ความนิยมนายมาริโอ ดรากี้ ในหมู่ชาวอิตาลีมีสูงมาก การสำรวจคะแนนนิยมเมื่อวันพฤหัสบดี (11 ก.พ. 64) ที่ผ่านมา เขาได้รับคะแนนนิยมกว่า 60% และกว่า 50% มีความหวังให้เขาบริหารประเทศจนถึงปี 2566
งานสำคัญเร่งด่วนที่นายมาริโอ ดรากี้ ต้องลงมือทำคือ จัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอิตาลี จากเงินช่วยเหลือที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรประดมจากการออกพันธบัตรก้อนโต 200 พันล้านยูโร ในรูปเงินให้เปล่าแก่รัฐบาลอิตาลี นำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่ง New York Times เปรียบเทียบว่าเหมือนแผนการมาร์แชล (Marshall Plan แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ)
อิตาลีเป็นประเทศได้รับเงินช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสหภาพยุโรปมากกว่าประเทศสมาชิกอื่น จึงนำแรงกดดันมาที่รัฐบาลนายมาริโอ ดรากี้ ด้วยเช่นกัน
นาตาลี ทอชชี่ ผู้อำนวยการสถาบัน Insttitute of International Affairs ที่อิตาลี บอกกับ New York Times ว่า “หากนายมาริโอ ดรากี้ ประสบความสำเร็จในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอิตาลี ก็จะจุดประกายแนวคิดที่เรียกว่า Hamiltonian processs แต่ถ้าหากล้มเหลว มันก็จะกลายเป็นตะปูตอกฝาโลง ผู้ที่เชื่อในแนวคิดสหภาพการคลัง (fiscal union)”